ตาถีบขี้นก ๑

Ixora brunonis Wall. ex G. Don

ชื่ออื่น ๆ
เงาะ (ใต้)
ไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก เปลือกต้นสีเทา กิ่งอ่อนมีขน เมื่อแก่ค่อนข้างเกลี้ยง ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปใบหอกกลับหรือรูปไข่กลับ มีหูใบระหว่างก้านใบ ช่อดอกแบบช่อกระจุกซ้อนหรือช่อกระจุกเชิงประกอบ ออกตามปลายกิ่งหรือตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ดอกรูปหลอดแคบปากบาน สีขาวหรือสีขาวอมชมพูอ่อน มีกลิ่นหอม ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงค่อนข้างกลม มีส่วนของกลีบเลี้ยงติดทนที่ปลายผล ผลสีเขียว เมื่อสุกสีดำ เมล็ดรูปเกือบครึ่งทรงกลม มีเกราะแข็งหุ้ม มี ๒ เมล็ด

ตาถีบขี้นกชนิดนี้เป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูง ๒-๓ ม. เปลือกต้นสีเทา กิ่งอ่อนมีขน เมื่อแก่ค่อนข้างเกลี้ยง

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปใบหอกกลับหรือรูปไข่กลับ กว้าง ๒.๕-๗.๕ ซม. ยาว ๙-๒๔ ซม. ปลายแหลม เรียวแหลม หรือยาวคล้ายหาง โคนรูปลิ่มหรือเว้ารูปหัวใจ ขอบเรียบหรือเป็นคลื่น แผ่นใบค่อนข้างบาง ใบอ่อนมีขนทั้ง ๒ ด้าน ใบแก่ด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีขน เส้นกลางใบแบนหรือเป็นร่องตื้นทางด้านบน นูนเด่นชัดทางด้านล่าง เส้นแขนงใบข้างละ ๗-๑๒ เส้น เห็นชัดทั้ง ๒ ด้าน ปลายเส้นโค้งจดกับเส้นถัดขึ้นไปใกล้ขอบใบ เส้นใบย่อยแบบร่างแห ใบเมื่อแห้งสีน้ำตาลถึงสีน้ำตาลคล้ำ ก้านใบยาว ๐.๒-๑ ซม. มีขน หูใบระหว่างก้านใบเป็นกาบคล้ายรูปสามเหลี่ยม ยาว ๒-๔ มม. มีขน ปลายสุดของหูใบเรียวแหลมคล้ายหนาม ยาว ๘-๙ มม.

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกซ้อนหรือช่อกระจุกเชิงประกอบ ออกตามปลายกิ่งหรือตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ก้านและแกนช่อดอกมีขน ก้านช่อดอกสั้น ยาว ๑-๕ มม. ใบประดับรูปสามเหลี่ยม ปลายเป็นริ้ว ด้านนอกมีขน ใบประดับย่อยรูปสามเหลี่ยมปลายแหลมหรือรูปไข่ปลายเป็นเส้น ด้านนอกมีขน ก้านดอกสั้น ดอกรูปหลอดแคบปากบาน สีขาวหรือสีขาวอมชมพูอ่อน มีกลิ่นหอม กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้น กว้างประมาณ ๑ มม. ยาว ๑-๒ มม. ปลายแยกเป็น ๔ แฉก แต่ะแฉกรูปสามเหลี่ยมเรียว ยาว ๐.๘-๑.๕ มม. ปลายแหลม ด้านนอกมีขน ด้านในเกลี้ยงหรือค่อนข้างเกลี้ยง กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาว ๑.๒-๓ ซม. ปลายแยกเป็น ๔ แฉกแต่ละแฉกรูปใบหอก กว้าง ๑.๕-๔ มม. ยาว ๐.๕-๑ ซม. ปลายแหลม ด้านนอกมีขน ด้านในเกลี้ยง แฉกกลีบบิดเวียนไปทางขวาในดอกตูม เกสรเพศผู้ ๔ เกสร ก้านชูอับเรณูสั้น ติดที่คอหลอดดอก อับเรณูรูปแถบ ยาว ๐.๕-๘ มม. ปลายแหลม รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ รูปถ้วย ยาว ๐.๕-๑ มม. มีขน มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียว ยาวพ้นปากหลอดดอก ๕-๘ มม. ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็นแฉกเล็ก ๒ แฉก

 ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๖-๘ มม. มีส่วนของกลีบเลี้ยงติดทนที่ปลายผล ผลสีเขียว เมื่อสุกสีดำ เมล็ดรูปเกือบครึ่งทรงกลม มีเกราะแข็งหุ้ม กว้าง ๖-๗ มม. ยาว ๗-๘ มม. แบนด้านที่ประกบ มี ๒ เมล็ด

 ตาถีบขี้นกชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันตกเฉียงใต้ และภาคใต้ พบตามป่าละเมาะและป่าดิบ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางจนถึงประมาณ ๘๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเกือบตลอดปี ในต่างประเทศพบที่เมียนมา มาเลเซีย และสิงคโปร์.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตาถีบขี้นก ๑
ชื่อวิทยาศาสตร์
Ixora brunonis Wall. ex G. Don
ชื่อสกุล
Ixora
คำระบุชนิด
brunonis
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Wallich, Nathaniel
- Don, George
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Wallich, Nathaniel (1786-1854)
- Don, George (1798-1856)
ชื่ออื่น ๆ
เงาะ (ใต้)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางจารีย์ บันสิทธิ์